ทำความเข้าใจกับกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงกันก่อน
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่หลายๆคนเข้าใจกัน ความเป็นจริงแล้วคือ หนังตาตก (Ptosis) เท่านั้น โดยลักษณะผู้ป่วยที่มีหนังตาตก ก็คือ ตาจะหรี่เล็ก เปลือกตาโดยเฉพาะแนวขนตานั้น บังตาดำลงมามากกว่า 2 มิลลิเมตร
เพราะฉะนั้น การที่จะบอกว่า หนังตาตกนั้นจะต้องมีตาที่เล็กลง และ หนังตาปิดตาดำไปมากกว่า 2 มิลลิเมตร
แล้วที่หลายๆคนเข้าใจว่าตัวเอง หรือ คนรอบข้างเป็น กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือ หนังตาตก นั้นใช่จริงๆหรือเปล่า หมอจะขอเอาตัวอย่างรูป ของผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้เป็นหนังตาตก มาให้ทุกท่านชม
หลังจากดูทั้งสองภาพแล้วจะพอเห็นได้ว่า เราสามารถเห็นตาดำได้ชัดเจน มีแต่เพียงหนังตาเท่านั้นที่เป็นส่วนเกิน เข้ามาบดบังการมองเห็นของผู้ป่วย เพราะฉะนั้น ทั้งสองภาพ ไม่ใช่หนังตาตก หรือ ที่หลายๆท่านเรียกว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
ผู้ป่วยจากทั้งสองภาพนั้น เป็น ผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน เพียงเท่านั้น หรือที่เรียกว่า Dermatochalasis เป็นหนึ่งใน โรคที่เรียกได้ว่าเป็น Pseudoptosis หรือ หนังตาตกเทียม ที่มักจะหลอกให้ผู้ที่มอง หรือ ผู้ตรวจคิดได้ว่าเป็นโรคหนังตาตกนั่นเอง
ผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน (Dermatochalasis) และ หนังตาตก (Ptosis) นั้นจะมีลักษณะที่คล้ายกัน และ สามารถแยกจากกันได้ยากในบางครั้ง แพทย์ผู้ทำการวินิจฉัยควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยอย่างถี่ถ้วนก่อนทำการรักษา หรือ ผ่าตัดใดๆก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันมีการรักษาได้หลากหลาย ซึ่งการรักษาของผู้ป่วยแต่ละท่านอาจจะไม่เหมือนกันก็เป็นได้
ผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน (Dermatochalasis) นั้นเกิดจาก หนังตาที่หย่อนคล้อยลงมาปิดตา หรือบดบังการมองเห็น มักเกิดจากผิวหนังที่มากเกินไป หรือ ผิวหนังที่ขาดคอลลาเจนในผู้สูงอายุ
โดยผู้ป่วยที่มีเปลือกตาหย่อน นั้นจะไม่มีอาการ หนังตาตก และ กล้ามเนื้อในการลืมตา ยังสามารถทำงานได้อย่างปกติ มักมีปัญหาจากผิวหนังที่เกินล้วนๆ (ในผู้สูงอายุบางราย อาจมีอาการเปลือกตาหย่อน ร่วมกับหนังตาตกได้)
อ่านถึงตรงนี้อาจจะยังสงสัย ว่าถ้ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จริงๆแล้วนั้นคือ หนังตาตก แล้วกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงของจริงมันคืออะไรกันแน่
***หลังจากนี้จะมีเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับโรคหนังตาตกอย่างละเอียดเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ***
หนังตาตก – Blepharoptosis
หนังตาตก (Blepharoptosis) คือ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการมาด้วย ตาปรือ มองลำบาก มีอาการยกคิ้วเพื่อช่วยดึงเปลือกตาขึ้น หรือ เงยหน้า เพื่อให้มองเห็นมากขึ้น จากภาพนั้นจะเห็นว่า เปลือกตาปิดลงมาบังม่านตา ทำให้ดูตาปรือ และสามารถบดบังการมองเห็นได้
เมื่อตรวจร่างกายจะพบว่า หนังตาบริเวณแนวขนตานั้น ตกลงมาบนตาดำมากกว่า 2 มิลลาเมตร โดยในภาพนี้จะเห็นว่าเมื่อวัด ระยะจุดกึ่งกลางตาดำ ไปถึงขอบแนวขนตา (Margin to reflex distance 1) นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 1 มิลลิเมตร ซึ่งบดบังรูม่านตา ทำให้มองในการใช้ชีวิตประจำวันลำบาก
หนังตาตกที่ไม่ได้มีอาการแต่กำเนิด (Acquired ptosis) นั้น
มีทั้งหมด 5 ประเภท คือ
-
- Aponeurotic Ptosis หนังตาตกที่เกิดจากอายุที่มากขึ้น ซึ่งพบบ่อยที่สุด
-
- Myogenic Ptosis หนังตาตกที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ
-
- Neurogenic Ptosis หนังตาตกที่เกิดจากการทำงานของเส้นประสาทที่ผิดปกติ
-
- Traumatic Ptosis หนังตาตกที่เกิดจาก อุบัติเหตุต่อกล้ามเนื้อลืมตาโดยตรง
-
- Mechanical Ptosis หนังตาตกที่เกิดจาก มีก้อนหรือน้ำหนักถ่วงเปลือกตาลงไป
Aponeurotic ptosis คือ
หนังตาตก ที่เกิดจากอายุที่มากขึ้นนั้น เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากกล้ามเนื้อในการลืมตา (Levator muscle) นั้น หย่อน ยืด และ หลุดออกจากจุดเกาะ (หมอจะให้นึกถึงการดึงรอกที่เชือกมันยืด หรือ ขาดออก) โดยกล้ามเนื้อในการลืมตานั้น ยังมีแรงได้ปกติ เมื่อหมอตรวจร่างกายจะพบว่าการทำงานของกล้ามเนื้อยังดีอยู่
การรักษา Aponeurotic ptosis
การผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อลืมตา เพื่อนำกล้ามเนื้อ Levator muscle นั้น กลับเข้ามายึดกับบริเวณ Tarsus ดังเดิม จะทำให้การลืมตาของผู้ป่วยนั้น ลืมตาได้มากขึ้น โดยการผ่าตัด จะเป็นการกรีดแผลยาวเหมือนกำผ่าตัดทำตาสองชั้นทั่วๆไป แต่จะต้องผ่าเข้าไปลึกถึงบริเวณ Levator muscle ซึ่งต้องใช้ความชำนาญ และ ความเคยชินของแพทย์ เพื่อให้การรักษาประสบผลสำเร็จไปได้
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด พบได้บ่อยที่สุดคือการแก้ไขแล้ว ยังลืมตาได้ไม่สูงพอ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะความบวมระหว่างผ่าตัด หรือ ผู้ป่วยบางท่านมีการทำงานของกล้ามเนื้อ Levator muscle ที่ไม่ดีมากเท่าที่ควรอยู่แล้ว ส่วนหลังผ่าตัดนั้น แพทย์จะประเมินผลการรักษาเต็มที่ ที่ประมาณ 6 เดือน
Myogenic ptosis คือ
หนังตาตกที่เกิดการความผิดปกติ ของกล้ามเนื้อในการลืมตา หรือที่เรียกว่า กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จริงๆแล้วที่เราเรียกๆกันว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแทนหนังตาตกนั้น คือโรคนี้นี่แหลาะ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น โรค Ocular/Generalized Myasthenia gravis, Oculopharyngeal muscular dystrophy ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก และอาจจะมีอาการอื่นนอกจากตาข้างเคียงด้วย ไม่ว่าจะมีอาการกลืนลำบาก หนังตาตกแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป หรือ อาจจะมีหนังตาตกเมื่อใช้งานมากขึ้น เมื่อนอนหลับแล้วอาการหนังตาตกจะดีขึ้น หรือแย่ที่สุดเลยคือมีอาการกล้ามเนื้อกระบังลมล้า ทำให้ไม่สามารถหายใจได้เอง
อาการทางตาของหนังตาตกชนิดนี้ คือ มีการทำงานของกล้ามเนื้อในการลืมตา หรือ Levator muscle ได้ไม่ดี กรอกตาลงอาจจะเห็นว่าเปลือกตาข้างที่มีอาการไม่ยอมตกลงมาด้วย หรือ บางโรคจะพบว่ามีอาการกรอกตาได้ไม่สุด และทำให้เกิดภาพซ้อนเมื่อใช้สองตามองได้ด้วย
Neurogenic ptosis คือ
หนังตาตกที่เกิดจากการทำงานของเส้นประสาทที่ผิดปกติ กล้ามเนื้อทุกมัดก็จะมีเส้นประสาทมาเลี้ยงเหมือนเป็นสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อวันนึงมีความผิดปกติของสายไฟนั้น ก็ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีปัญหาได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดหนังตาตกชนิดนี้ เช่น Cranial nerve 3 palsy หรือการทำงานของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 ทำงานผิดปกติ โดยเส้นประสาทคู่นี้ จะเลี้ยงกล้ามเนื้อในการกรอกตา และ กล้ามเนื้อในการลืมตา สาเหตุไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุต่อเส้นประสาทที่สมองโดยตรง เส้นประสาทขาดเลือด หรือว่าจะเป็นเส้นเลือดโป่งพองไปกด ก็จะทำให้การทำงานของเส้นประสาทสมองนั้นเสียหายไปได้
อาการทางตา มักจะพบว่า มีอาการตาเขออก มีอาการกรอกตาได้ไม่สุด (ยกเว้นกรอกออกนอก) หนังตาตก และอาจจะมีรูม่านตาที่ขยายผิดปกติก็เป็นได้ ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวควรให้พบแพทย์โดยทันที เนื่องจากสามารถเกิดจาก เส้นเลือดโป่งพองไปกด และ มีโอกาสเส้นเลือดแตกในสมองได้
Traumatic ptosis คือ
หนังตาตก ที่เกิดจากอุบัติเหตุโดยตรง เข้าไปที่กล้ามเนื้อในการลืมตา โดยส่วนมากมักเกิดจากอุบัติเหตุที่มีสิ่งของเข้ามาชนกับเปลือกตาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นของมีคมหรือไม่ ซึ่งก็ตรงไปตรงมา ที่ทำให้กล้ามเนื้อในการลืมตา หรือ Levator muscle นั้นเสียหาย และทำให้หนังตาตกได้
Mechanical ptosis คือ
หนังตาตก ที่เกิดจากมีวัตถุแปลกปลอม มาถ่วงเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาที่มาถ่วงบริเวณเปลือกตา ทำให้กล้ามเนื้อในการลืมตา ไม่สามารถสู้แรงได้ และทำให้หนังตาตก ไม่ว่าจะเป็น ตากุ้งยิง หรือ ก้อนเนื้อบริเวณเปลือกตาบน นั้นก็ทำให้เกิดอาการได้ เมื่อตรวจร่างกายโดยแพทย์แล้วมักจะพบก้อนบริเวณเปลือกตาทำเป็นสาเหตุ และ การทำงานของกล้ามเนื้อ Levator muscle นั้นมักปกติดี
ต้องการอ่านเพิ่มเติมอย่างละเอียดเกี่ยวกับชนิดของหนังตาตก ได้ที่นี่
การรักษา ผิวหนังเปลือกตาหย่อน และ หนังตาตก
การรักษาผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน (Upper lid plasty)
การรักษาผิวหนังเปลือกตาหย่อน (Upper lid plasty) สามารถทำได้โดยการผ่าตัดหนังตาส่วนเกินออก การผ่าตัดนั้นแผลผ่าตัด สามารถลงได้ทั้ง
แผลที่ชั้นตา (Upper Blepharoplasty) เหมือนการผ่าตัดตาสองชั้นทั่วไป มีแผลที่ชั้นตา แบบกรีดยาว เนื่องจากจะต้องตัดผิวหนังส่วนเกิดออกไป สามารถแก้ไขชั้นตาไม่เท่ากันได้ไปพร้อมๆกัน สามารถดูตัวอย่างได้ที่นี่
แผลบริเวณใต้คิ้ว (Sub-brow Blepharoplasty) โดยแผลใต้คิ้วนั้นสามารถผ่าตัดหนังตาออกไปได้มาก สามารถขจัดไขมันที่เปลือกตาได้เหมือนกันแผลที่ชั้นตา แต่จะไม่สามารถแก้ไขชั้นตาที่ไม่เท่ากันได้
การรักษาหนังตาตกหรือกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis correction)
การรักษาหนังตาตก (Ptosis Correction) นั้น มักจะต้องผ่าตัดบริเวณชั้นตา เพื่อเข้าไปแก้ไขกล้ามเนื้อในการลืมตาได้โดยตรง หลังทำเสร็จแผลภายนอกจะเหมือนกับการผ่าตัดตาสองชั้นทั่วๆไป แต่อาจจะมีอาการบวม ช้ำมากและนานกว่าการทำตาสองชั้นแบบปกติ
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อย่างที่หลายๆคนเข้าใจกัน จริงๆแล้วคือหนังตาตกดังที่กล่าวข้างต้น โดยคุณหมอจะใช้คำว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยไม่ว่าจะมีอาการหนังตาตก (Ptosis) หรือผิวหนังเปลือกตาหย่อน (Dermatochalasis) นั้น ถ้ามีอาการมาก ผู้ป่วยอาจมีการใช้กล้ามเนื้อหน้าผาก (Frontalis Muscle) เพื่อดึงคิ้วให้ช่วยยกเปลือกตาขึ้น บางครั้งทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัว ปวดคิ้ว และมีรอยย่นบริเวณหน้าผากขึ้นมาได้
ทั้งสองอาการข้างต้นนั้น สามารถเกิดร่วมกันได้ ตัวอย่างที่พบได้บ่อยคือในผู้สูงอายุ ซึ่งการรักษาข้างต้นด้านบน คือการผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อลืมตา แผลผ่าตัดมักจะลงบริเวณชั้นตา ซึ่งสุดท้ายหลังผ่าตัดนั้น แผลไม่ต่างกับการผ่าตัดตาสองชั้นธรรมดา
เนื่องจากการผ่าตัดแก้ไขหนังตาตกนั้น ผู้ป่วยไม่สามารถทราบได้เลยว่าแพทย์ผ่าตัดเข้าไปถึงกล้ามเนื้อลืมตาจริงๆหรือไม่ เนื่องจากแผลบริเวณเปลือกตานั้นไม่แตกต่างกับคนทำตาสองชั้นทั่วๆไป เพราะฉะนั้น ควรได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ที่มีความเข้าใจ และ เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเปลือกตาอย่างดี เพื่อแก้ไขให้ผู้ป่วยได้ตรงจุด และ ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต
หลังจากการผ่าตัดแก้ไขทั้งหนังตาตก และ ผิวหนังเปลือกตาหย่อนแล้ว พบว่ามีผู้ป่วยบางท่านยังมีความเคยชินในการใช้กล้ามเนื้อหน้าผากช่วยในการยกคิ้วอยู่ได้ สามารถแก้ไขได้ด้วยให้ผู้ป่วยทำความเคยชินไม่ยกหน้าผาก หรือ สามารถใช้ยาในกลุ่ม Botulinum toxin A หรือ โบทอกซ์ ฉีดบริเวณหน้าผาก ช่วยให้ไม่ยกคิ้วได้ โดยการฉีดแต่ละครั้งจะมีฤทธิ์ประมาณ 3-4 เดือน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โบทอกซ์ หรือ Botulinum toxin A: Botulinum toxin A คืออะไร
สามารถรับชม รีวิวผลการผ่าตัดแก้ไขเปลือกตา ของหมออาร์ตได้ ที่นี่
อัพเดทข่าวสาร จากหมออาร์ต นพ. วรฤทธิ์ จินารัตน์ ได้ ที่นี่